ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
 

 

รวมลิ้งค์ เว็บไซต์ธรรมะ ที่น่าสนใจ
  THAIWARE Dharma | รายละเอียด บทความ บทสวด บทคาถา ธรรมะ
เลือกขนาดตัวอักษร ขนาดตัวอักษร :  ก   ก   ก   ก 

สิ่งทั้งปวงเป็นธรรมะ (ปีที่ 3 ตอน 7) บทส่งท้าย (ต่อ) ธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส 44 ประการ

 

    Share  
 

 

 


บทส่งท้าย (ต่อ)

ธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส 44 ประการ

รูปประกอบด้านบนตอน ท่านอาจารย์ที่หน้าหอพระ และรูปปั้นท่านธรรมปาละ ที่เฉลิมฉลองใหม่พร้อมอาคาร ที่มหาโพธิสมาคม  คยา

ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ๘ สัลเลขสูตร ช่วงต้นพระสูตร พระพุทธองค์ทรงแสดงว่า ฌาน (สมาธิในระดับต่างๆ ทั้งรูปฌานและอรูปฌาน) เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน  แล้วทรงแสดงธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส หรือ สัลเลขธรรม ซึ่งก็ต้องอาศัยสติและสติปัฏฐานประกอบด้วย ขออนุญาตตัดตอนเอาเฉพาะธรรม 44 ประการ มาแสดงไว้ ดังนี้ (ขอบคุณ www.84000.org)
 
[๑๐๔] ดูกรจุนทะ เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลากิเลสในข้อเหล่านี้แล คือชนเหล่าอื่นจักเป็นผู้เบียดเบียนกัน ในข้อนี้เราทั้งหลายจักเป็นผู้ไม่เบียดเบียนกัน
 
... เราทั้งหลายจักงดเว้นจากการฆ่าสัตว์
 
... เราทั้งหลายจักงดเว้นจากการลักทรัพย์
 
... เราทั้งหลายจักประพฤติพรหมจรรย์ (ออกจากกามคุณ คือความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสต่างๆ เมถุนธรรม)
 
... เราทั้งหลายจักงดเว้นจากการกล่าวเท็จ (พูดคำไม่จริง โกหก)
 
... เราทั้งหลายจักงดเว้นจากการกล่าวส่อเสียด (พูดยุยงให้แตกแยกกัน)
 
... เราทั้งหลายจักงดเว้นจากการกล่าวคำหยาบ (พูดให้คนอื่นไม่พอใจ เช่น ด่า ประชด เหน็บแนม เป็นต้น)
 
... เราทั้งหลายจักงดเว้นจากการกล่าวเพ้อเจ้อ (พูดเรื่องไม่เป็นประโยชน์ พูดด้วยจิตที่เป็นอกุศลจึงเพิ่มอกุศลให้มากขึ้น)
 
...เราทั้งหลายจักไม่เพ่งเล็งภัณฑะ (สิ่งของ) ของผู้อื่น (อิสสรสูตร:- พระพุทธองค์ตรัสว่า หญิงเป็นสิ่งสูงสุดแห่งภัณฑะ)
 
... เราทั้งหลายจักไม่มีจิตพยาบาท (มีเจตนามุ่งร้ายทางกาย วาจา หรือใจ)
 
... เราทั้งหลายจักมีความเห็นชอบ (สัมมาทิฏฐิ- เห็นแจ้งในอริยสัจสี่ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค)
 
... เราทั้งหลายจักมีความดำริชอบ (สัมมาสังกัปปะ- ออกจากกามคุณ ไม่เบียดเบียน ไม่มุ่งร้าย)
 
... เราทั้งหลายจักมีวาจาชอบ (สัมมาวาจา- ไม่โกหก ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ)
 
... เราทั้งหลายจักมีการงานชอบ (สัมมากัมมันตะ- ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม)
 
... เราทั้งหลายจักมีอาชีพชอบ (สัมมาอาชีวะ- เลี้ยงชีพชอบ ประกอบอาชีพโดยไม่ล่วงทุจริตด้วยกาย วาจา)
 
... เราทั้งหลายจักมีความเพียรชอบ (สัมมาวายามะ- เพียรพยายามทำความดี ไม่ทำความชั่ว)
 
... เราทั้งหลายจักมีสติชอบ (สัมมาสติ- สติปัฎฐาน 4 มีที่ตั้งของความระลึกได้ทางกาย เวทนา จิต หรือธรรม)
 
... เราทั้งหลายจักมีสมาธิชอบ (สัมมาสมาธิ- ฌานที่ประกอบด้วยปัญญาในระดับต่างๆ)
 
... เราทั้งหลายจักมีญาณชอบ (สัมมาญาณ- วิปัสสนาญาณเจริญขึ้นเป็นลำดับ มี16 ขั้นหรือโสฬสญาณ)
 
... เราทั้งหลายจักมีวิมุติชอบ (สัมมาวิมุติ- การหลุดพ้นจากตัณหา อวิชชา)
 
... เราทั้งหลายจักปราศจากถีนมิทธะ (ถีนะ- ท้อถอย หดหู่ มิทธะ- ซบเซา ง่วงเหงา)
 
... เราทั้งหลายจักเป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน (คิดในเรื่องต่างๆ ในอดีตหรืออนาคต ทั้งดีและไม่ดี)
 
... เราทั้งหลายจักข้ามพ้นจากวิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัยในพระธรรมคำสั่งสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า)
 
... เราทั้งหลายจักไม่มีความโกรธ (ไม่พอใจ ขุ่นเคือง แข็งกระด้าง)
 
... เราทั้งหลายจักไม่ผูกโกรธไว้ (ไม่ลืม ไม่หายโกรธ นึกได้ก็โกรธอีก)
 
...เราทั้งหลายจักไม่ลบหลู่คุณท่าน (ไม่ทำให้คุณความดีของผู้อื่นปรากฏ ไม่เห็นคุณความดีผู้อื่น)
 
... เราทั้งหลายจักไม่ยกตนเทียมท่าน (ยกตนที่ต่ำกว่าให้สูงเทียบเทียมท่าน)
 
... เราทั้งหลายจักไม่มีความริษยา (มุ่งร้ายต่อลาภยศสรรเสริญสุขของผู้อื่น เกียดกันผู้อื่น ไม่อยากให้ผู้อื่นได้ดีกว่าตน)
 
... เราทั้งหลายจักไม่มีความตระหนี่ (เสียดายไม่อยากบริจาคเพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่น)
 
... เราทั้งหลายจักไม่โอ้อวด (ไม่เปิดเผยตนตามความจริง พูดหรือแสดงออกเพื่อยกตัวให้ผู้อื่นรู้ว่าตนดีกว่า)
 
... เราทั้งหลายจักไม่มีมารยา (เล่ห์กล การแสร้งทำ ไม่จริงใจ)
 
... เราทั้งหลายจักไม่ดื้อด้าน (ไม่เชื่อฟัง ปกครองยาก หัวแข็ง ดื้อรั้น)
 
...เราทั้งหลายจักไม่ดูหมิ่นท่าน (พูดหรือแสดงอาการดูถูกให้เห็นว่าผู้อื่นต่ำต้อยกว่า ไม่มีทางเทียบกับเราได้)
 
... เราทั้งหลายจักเป็นผู้ว่าง่าย (ทำตามคำแนะนำตักเตือนในทางที่ดีที่เป็นประโยชน์โดยไม่แสดงอาการขัดเคือง)
 
... เราทั้งหลายจักมีกัลยาณมิตร (บุคคลที่ช่วยให้เข้าถึงพระธรรม ความดี กัลยาณมิตรที่เลิศที่สุดคือพระพุทธเจ้า)
 
... เราทั้งหลายจักเป็นคนไม่ประมาท (ทำกุศลด้านต่างๆ ทั้งให้ทาน รักษาศีล อบรมเจริญปัญญา ทุกโอกาสที่ทำได้)
 
... เราทั้งหลายจักเป็นคนมีศรัทธา (ความเชื่อ เลื่อมใส ประพฤติตามในพระพุทธ พระธรรม พระอริยสงฆ์)
 
... เราทั้งหลายจักเป็นผู้มีหิริในใจ (ความละอายต่อการทำชั่วทางกาย วาจา หรือใจ)
 
... เราทั้งหลายจักเป็นผู้มีโอตตัปปะ (ความเกรงกลัว สะดุ้งกลัวต่อการทำชั่วทางกาย วาจาหรือใจ)
 
... เราทั้งหลายจักเป็นผู้มีสุตะมาก (ศึกษา ฟัง พิจารณา ทบทวน ทรงจำไว้ซึ่งพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์)
 
... เราทั้งหลายจักเป็นผู้ปรารภความเพียร (อบรมเจริญปัญญาและกุศลประการต่างๆ ให้เป็นปกติในชีวิตประจำวัน)
 
... เราทั้งหลายจักเป็นผู้มีสติดำรงมั่น (ระลึกรู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนั้นๆ สติไม่ฟั่นเฟือน)
 
... เราทั้งหลายจักเป็นคนถึงพร้อมด้วยปัญญา (รู้ถูกเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงของธรรมะที่ปรากฏแต่ละขณะ)
 
...เราทั้งหลายจักไม่เป็นผู้ลูบคลำทิฏฐิ (มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดจากความเป็นจริง) ของตน ไม่ยึดถืออย่างมั่นคง และสละคืนได้โดยง่าย   ... ฯลฯ
 
[๑๐๙] ดูกรจุนทะ เหตุแห่งธรรมเครื่องขัดเกลา เราได้แสดงแล้ว เหตุแห่งจิตตุปบาท (การเกิดขึ้นของจิต) เราได้แสดงแล้ว เหตุแห่งการหลีกเลี่ยง (อกุศลธรรม) เราได้แสดงแล้ว เหตุแห่งความเป็นเบื้องบน (กุศลธรรม) เราได้แสดงแล้ว เหตุแห่งความดับสนิท (อกุศลธรรม) เราได้แสดงแล้ว ด้วยประการฉะนี้ ดูกรจุนทะ กิจอันใดที่ศาสดาผู้แสวงหาประโยชน์ เอ็นดูอนุเคราะห์ แก่เหล่าสาวกจะพึงทำ กิจนั้นเราทำแก่เธอทั้งหลายแล้ว ดูกรจุนทะ นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง (ตรัสให้ไปอบรมเจริญปัญญาตามอัธยาศัย องค์ใดชอบป่าก็ไปโคนไม้ องค์ใดไม่ชอบ ก็ไปเรือนว่าง) เธอทั้งหลายจงเพ่งพินิจเถิด อย่าประมาท อย่าได้เป็นผู้มีความเดือดร้อนในภายหลังเลย นี้เป็นคำสอนของเราสำหรับเธอทั้งหลาย ฉะนี้แล
 
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ท่านพระมหาจุนทะชื่นชมยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาค ฉะนี้แล พระผู้มีพระภาคตรัสบท ๔๔ ทรงแสดงสนธิ ๕   พระสูตรนี้ชื่อ สัลเลขสูตร ลุ่มลึก เปรียบด้วยสาคร ฉะนี้...สาธุ
ธรรมะละเอียด และลึกซึ้ง ยากที่จะรู้ตามได้โดยง่าย แม้รู้แล้ว ใช่ว่าจะละเลยกิเลสได้ทันที ต้องอาศัยการศึกษา การฟังพระสัทธรรม พิจารณาใคร่ครวญให้ถูกต้องตามจริงเห็นจริงและน้อมใจประพฤติตามด้วยความอดทน เพียรพยายาม ทีละน้อยๆ บ่อยๆ เนืองๆ เป็นจิรกาลภาวนา แปลว่า การอบรมเจริญปัญญาต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนาน ต้องสะสมไปเรื่อยๆ นานแสนนาน กว่าจะประจักษ์แจ้งในอริยสัจธรรม
ลองจับด้ามมีด เมื่อจับนาน ๆ เข้า ด้ามมีดจะสึกเพราะการจับ แต่ขณะที่จับครั้งที่ ๑ ครั้งที่ ๒  ครั้งที่ร้อยที่พัน ไม่เห็นด้ามมีดสึกเลย ต่อเมื่อไหร่ที่ด้ามมีดสึกแล้ว เมื่อนั้นจึงจะรู้สึกว่าสึกเพราะการจับ อวิชชาความไม่รู้หรือการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ที่จะค่อย ๆ คลาย ค่อยๆ หมดไปได้ เพราะสติระลึกแล้วระลึกอีก จนกว่าปัญญาจะค่อยๆ รู้ขึ้น เจริญขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะดับความเห็นผิด ความไม่รู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้ แต่ต้องคิดถึงความอดทนของคนจับด้ามมีด ถ้าไม่อดทน จับสักร้อยปีด้ามมีดอาจจะยังไม่สึกก็ได้ แต่จับต่อไปอีก วันหนึ่งก็ต้องสึกได้...สาธุ (คัดลอกข้อความสนทนาธรรมของท่านอาจารย์สุจินต์ จากเว็บไซด์บ้านธัมมะ)
 
ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏขณะนี้ จึงไม่รู้จักธรรมะ รู้จักธรรมะเมื่อไหร่ ลึกซึ้งเมื่อนั้น ... ฟังจนกว่าจะเริ่มค่อยๆ เข้าใจขึ้น ... รู้ลักษณะของเห็น และสิ่งที่ปรากฏทางตา ... ซึ่งเป็นแต่เพียงนิมิตของธาตุดินน้ำไฟลม
 
อารมณ์ของสติ คือ สติปัฎฐาน ธรรมะทั้งปวง เป็นสติปัฎฐาน หมายถึง ธรรมะทั้งปวงเป็นอารมณ์ของสติ ให้สติระลึกได้ สติระลึกรู้ลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏขณะนั้น น้อมพิจารณาโดยไม่นึกเป็นคำ รู้ลักษณะนามธรรม หรือรูปธรรม ที่ปรากฏขณะนั้น ขณะสติปัฎฐานเกิด อินทรีย์ห้า (ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ) เสมอกัน สัมมาวายามะหรือสัมมัปปธานสี่ถึงพร้อม เป็นขณะที่ตั้งมั่นในอารมณ์นั้น เป็นเอกัคคตา เป็นสัมมาสมาธิ แต่ไม่ได้ตั้งมั่นในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งเพียงอารมณ์เดียว เปลี่ยนไปตามสิ่งที่ปรากฏขณะนั้นๆ  ดังนั้นขณะที่อบรมเจริญปัญญา ถ้าเพ่งอารมณ์ เป็นสมถ ถ้าเพ่งไตรลักษณ์ เป็นวิปัสสนา การอบรมเจริญปัญญาเป็นทางสายกลาง ไม่พัก ไม่เพียร ไม่พักอยู่ในกาม (รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสต่างๆ) ไม่เพียรอยู่ในความเห็นผิด (ไม่ใช่อริยสัจ) ขณะที่เข้าใจธรรม เป็นขณะที่ไม่พัก ไม่เพียร 
 
อีกพระสูตรหนึ่ง ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงอริยสัจสี่ อริยมรรคแปด โดยตรัสสั้นๆ ธรรมดา แต่ซ่อนความละเอียดลึกซึ้งไว้ คือ จูฬตัณหาสังขยสูตร ว่าด้วยข้อปฏิบัติธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา ซึ่งคัดมาจากพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ๗. จูฬตัณหาสังขยสูตร จาก เว็บไซด์ 84000.org
 
[๔๓๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:-
 
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ปราสาทแห่งมิคารมารดา (มหาอุบาสิกาวิสาขา ผู้เป็นดังว่ามารดาแห่งมิคารเศรษฐี) ในวิหารบุพพาราม เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทพ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นยืนเรียบร้อยแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กล่าวโดยย่อด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร ภิกษุชื่อว่าน้อมไปแล้วในธรรมเป็นที่สิ้นแห่งตัณหา มีความสำเร็จล่วงส่วนมีความปลอดโปร่งจากกิเลสเป็นเครื่องประกอบล่วงส่วน เป็นพรหมจารีล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วนเป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย? 
 
[๔๓๔] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรจอมเทพ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้สดับว่า ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น ถ้าข้อนี้ ภิกษุได้สดับแล้วอย่างนี้ ภิกษุนั้นย่อมรู้ยิ่งซึ่งธรรมทั้งปวง ครั้นรู้ยิ่งซึ่งธรรมทั้งปวงแล้ว ย่อมทราบชัดธรรมทั้งปวง ครั้นทราบชัดธรรมทั้งปวงแล้ว ย่อมกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง ครั้นกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงแล้ว เธอได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ดี เธอย่อมพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง พิจารณาเห็นความหน่าย พิจารณาเห็นความดับ พิจารณาเห็นความสละคืนในเวทนาทั้งหลายนั้น เมื่อพิจารณาเห็นดังนั้น ย่อมไม่ยึดมั่นสิ่งอะไรๆ ในโลก เมื่อไม่ยึดมั่น ย่อมไม่สะดุ้งหวาดหวั่น เมื่อไม่สะดุ้งหวาดหวั่น ย่อมดับกิเลสให้สงบได้เฉพาะตัว และทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดังนี้ ดูกรจอมเทพ กล่าวโดยย่อ ด้วยข้อปฏิบัติเท่านี้แลภิกษุชื่อว่าน้อมไป ในธรรมเป็นที่สิ้นแห่งตัณหา มีความสำเร็จล่วงส่วน มีความปลอดโปร่งจากกิเลสเป็นเครื่องประกอบล่วงส่วน เป็นพรหมจารีล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วน เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
 
ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพ ชื่นชม ยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณและหายไปในที่นั้นนั่นเอง....สาธุ
 
สิ่งทั้งปวงเป็นธรรมะ ธรรมะทั้งปวงเป็นอนัตตา ธรรมะทั้งปวงเป็นสติปัฎฐาน (เป็นอารมณ์ของสติ) ธรรมะทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น เมื่อไม่ยึดมั่น ย่อมดับกิเลสได้ หากไม่ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจถ่องแท้ ไม่ยอมฟังธรรม ไม่พิจารณาใคร่ครวญ ทบทวน ทรงจำพระธรรมไว้ ไม่เจริญอริยสัจสี่ ไม่เจริญสติ ไม่เจริญกุศล ไม่เจริญสติปัฎฐาน ไม่อบรมเจริญปัญญาบ่อยๆ เนืองๆ ก็ต้องเป็นทาสของกิเลส ตัณหา อวิชชาต่อไปไม่มีวันสิ้นสุด แล้วจะยอมเป็นทาสทุกชาติไปหรือ
 
ขอให้ทุกท่านอดทน ตั้งใจฟังธรรม ศึกษาธรรม เพื่อเพิ่มพูนความเข้าใจถูกเห็นถูกตามสภาพธรรมที่ปรากฏขณะนั้นๆ เพราะขณะนั้นจิตเป็น มหากุศลญาณสัมปยุตต์ คือขณะที่กุศลจิตประกอบด้วยปัญญาและเจตสิกฝ่ายดีอื่นๆ หลายประเภท เช่น ศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ อโลภะ อโทสะเป็นต้น เป็นขณะที่เป็นโยนิโสมนสิการ คือมีการพิจารณาธรรมด้วยความแยบคายด้วย ขั้นตอนการบรรลุธรรมจะต้องเป็นไปตามลำดับคือ รู้จักธรรมถูกต้อง (ปริยัติ) เข้าใจธรรมถูกต้อง จึงปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม (ปฏิบัติ) จนกระทั่งประจักษ์แจ้งในธรรมที่ปรากฏแล้วละกิเลสได้สิ้นเชิง (ปฎิเวธ) ไม่สามารถกระโดดข้ามขั้นตอนได้ และในชีวิตประจำวัน ก็เป็นไปในการให้ทานที่ถูกต้อง ในการรักษาศีลที่ถูกต้อง และอบรมภาวนาเจริญปัญญาที่ถูกต้อง โปรดสะสมไว้ทุกวันเถิด จะเกิดผลดีในอนาคตแน่นอน
 
สุดท้ายนี้ ข้าพเจ้าขออัญเชิญพระดำรัสของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มาประดับไว้เพื่อน้อมระลึกและบูชาพระคุณในวาระที่ขันธ์ธาตุอายตนะซึ่งเคยดำรงสมณศักดิ์สูงสุดได้ดับไปจากชาตินี้นิรันดร์
 
"ศรัทธาที่ถูกต้อง เกิดจากศึกษาให้รู้ ให้เข้าใจอย่างถูกต้อง"
 
[ ขออภิวาทคุณพระรัตนตรัย กราบขอบพระคุณบิดามารดา ครูอาจารย์ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ขอบพระคุณคณะวิทยากรของมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา อาจารย์คำปั่น อักษรวิลัย บริษัท ไทยแวร์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ที่เผยแพร่ลงเว็บไซต์ เว็บไซต์ dharma.thaiware.com และ คุณธรรณพ สมประสงค์  รวมไปถึง เว็บไซต์และแหล่งข้อมูลที่อ้างอิงต่างๆ และท่านผู้มีพระคุณ ท่านที่เกี่ยวข้องทุกท่าน มา ณ ที่นี้ หากผิดพลาดประการใดโปรดกรุณาให้อภัยด้วย]



THAIWARE Dharma | นำข้อมูลบทความออก !  นำข้อมูลออกพิมพ์ !

THAIWARE Dharma | นำข้อมูลออก โดยการพิมพ์ (Print Article by Printable View)    THAIWARE Dharma | นำข้อมูลออกสู่ MS.Word (Export Article to MS.Word)    THAIWARE Dharma | นำข้อมูลออกสู่ ไฟล์เอกสาร PDF (Export Article to PDF Format Document)
 

THAIWARE Dharma | กลับสู่หน้าแรก ไทยแวร์ธรรมะ
 

 

 

 

  THAIWARE Dharma | ส่งความคิดเห็นจากทางบ้าน !
หัวข้อ เนื้อหา ข้อตกลง
  ความคิดเห็น* :

หมายเหตุ : กรอกรายละเอียดของบทความเข้าไป (ไม่รับ HTML Code) สามารถกด Enter ขึ้นบรรทัดใหม่ได้
  ห้ามโพสข้อความ !

  ที่มีการพาดพิงถึงสถาบัน พระมหากษัตริย์และราชวงศ์

  ที่ก่อให้เกิดความเสียหาย หรือส่งผลต่อ ความมั่นคงของประเทศ

  ที่ส่อไปทางลามก อนาจาร หรือผิดศีลธรรม

  ที่ถือเป็นการ ละเมิดลิขสิทธิ์ ผิดกฎหมาย

  ที่เป็นความผิด เกี่ยวกับการก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา

  ที่มีการพาดพิงถึงสถาบัน พระมหากษัตริย์และราชวงศ์

  ที่ผิดต่อ พรบ. ว่าด้วยการกระทำผิด เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๑
  ชื่อ / อีเมล์* :

หมายเหตุ : "นาย สมชาย รักธรรม" หรือ "somchai.r@gmail.com"
  รหัสยืนยัน* :

 
ฉันยอมรับข้อตกลงที่กล่าวมา ภายในหน้านี้ ทั้งหมด